วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การเลือกหูฟัง ให้เหมาะกับตัวเอง

การเลือกหูฟัง (ให้เหมาะกับตัวเอง)

          หูฟังหรือ Headphones ถือเป็นอุปกรณ์คู่ชีพที่คนทำงานด้านเสียงทุกคนต้องมี รวมทั้งยังเป็นของที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนจำนวนมาก หูฟังมีให้เลือกซื้ออย่างหลากหลายในท้องตลาด แต่การที่ใครสักคนจะเลือกหูฟังสักอันมาเป็นของคู่กาย จะมีวิธีเลือกอย่างไรบ้าง ดูที่อะไรบ้าง วันนี้เราจะคุยกันเรื่องนี้ นั่นคือ การเลือกหูฟัง (ให้เหมาะกับตัวเอง)



*หมายเหตุ หูฟังในที่นี้หมายถึงหูฟังทั้งแบบครอบหัวและแบบใส่ในหู*



            หลักการที่สั้นและเรียบง่ายที่สุดในการซื้อหูฟังคือ "เลือกอันที่คุณฟังแล้วเพราะที่สุดและแพงที่สุดเท่าที่คุณจะซื้อไหว" ...(ถ้าไม่คิดมาก ใช้หลักการนี้ได้เลย) แต่ถ้าประณีตในการเลือกขึ้นหน่อย ลองมองถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ประกอบด้วย จะทำให้คุณได้หูฟังที่เหมาะกับคุณมากที่สุด

เรื่องที่เน้นคือคำว่า  "เหมาะกับตัวเอง" ดังนั้นเมื่อคุณจะเลือกหูฟังสักอัน ถามตัวเองก่อนเลยว่าคุณเลือกหูฟังเพื่ออะไร เลือกสำหรับงานอาชีพทางเสียง เลือกเพื่อใช้ในการเดินทาง ในชีวิตประจำวัน เมื่อตอบตัวเองแล้ว เมื่อคุณไปเลือกหูฟัง ขอให้อย่าลืมนึกถึงสิ่งเหล่านี้ ...


1. เอาเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาที่คุณฟังเป็นประจำไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ที่คุณใส่เพลงไว้ฟัง ไอโฟน ไอแพด ไอพอด ซาวด์อะเบ้าท์ ... อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นอุปกรณ์ที่คุณฟังเป็นประจำ เอาไปลองกับหูฟังที่คุณจะซื้อ จะได้รู้ว่าหูฟังดีๆ ฟังกับอุปกรณ์เดิมๆ ของคุณ จะได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นไหม เพราะถ้าคุณฟังจากแหล่งกำเนิดเสียงหรือเครื่องเล่นอื่นๆ ที่ผู้ขายเตรียมไว้ เครื่องเล่นนั้นอาจปรับ EQ ไว้หรือมีคุณภาพในการแปลงสัญญาณเสียงดีหรือแย่กว่าสิ่งที่คุณใช้ประจำ ดังนั้นเพื่อความชัดเจนว่าคุณได้หูฟังคุณภาพดีขึ้น ควรพกเครื่องเล่นเพลงของคุณเองไปลอง


2. เพลงก็สำคัญ เตรียมเพลงที่คุณคุ้นเคย ที่คุณรู้รายละเอียดในเพลงนั้นอย่างดี เพลงที่คุณฟัง เพลงที่คุณรัก ไปลองฟังกับหูฟังอันใหม่ ถ้าคุณฟังเพลงที่คุณคุ้นเคยแล้วคุณรู้สึกเพราะขึ้น รายละเอียดดนตรีชัดเจนขึ้น คุณมีความสุขที่จะได้ยินเพลงนี้ผ่านหูฟังนั้น แปลว่าคุณมาถูกทางแล้ว ถ้าคุณทำงานมิกเสียง ก็เอาเพลงที่คุณมิกเองไปลองฟังดู
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณชอบฟังเพลงที่เบสหนักๆ เบสเดินเป็นเม็ดๆ คุณอาจจะเลือกฟังวง Groove Rider เพลง Superstar เป็นต้น เพื่อรายละเอียดในย่านเสียงตามแนวเพลงนั้นๆที่คุณสนใจ

3. สำหรับมืออาชีพที่ทำงานด้านมิกเสียง มีรายชื่อหูฟังที่น่าเชื่อถือสำหรับงานระดับนี้ที่คุณหาได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นก็คือ การใช้หูฟังที่ให้ลักษณะเสียงใกล้เคียงกับลำโพงที่คุณใช้ การเลือกหูฟังที่เสียงดีแต่เสียงไปคนละทิศทางกับลำโพงที่คุณใช้มิกงาน อาจทำให้คุณตัดสินใจเกี่ยวกับความพอดีและลงตัวของงานนั้นๆ ได้ยากขึ้น ถ้าเลือกหูฟังเพื่อใช้สำหรับงานมิก เลือกให้เสียงไปแนวเดียวกับลำโพงของคุณจะดีมาก ดังนั้นอย่าลืมทำตามข้อ 2. คือพกเพลงที่คุณคุ้นเคยไปลองฟังด้วย จะได้รู้ว่าเสียงของหูฟังใกล้เคียงกับลำโพงของคุณไหม

4. นอกจากเรื่องเสียงแล้ว ขอให้นึกถึงความสบายในการใส่หูฟังด้วย ลองใส่ดู ลองฟังไปห้านาที สิบนาที ไม่ต้องรีบไม่ต้องกดดัน ถ้าคุณรู้สึกว่าเสียงดีแล้วก็ทดลองฟังให้นานขึ้นอีกนิด แล้วตรวจดูความรู้สึกว่าหูฟังนั้นใส่สบายไหม ปรับขนาดให้เข้ากับขนาดหัวของคุณได้ไหม บีบหัวไหม บีบหูไหม แบบที่ใส่ไปในหู ในรูหู พอดีกับคุณไหม เรื่องความสบายนี้สำคัญมาก ใส่หูฟังนานๆ แล้วเจอหูฟังที่ใส่ไม่สบาย ความรู้สึกจะเหมือนการเจอรองเท้ากัด

5. สนใจเรื่องการรั่วของเสียงด้วย ทั้งเสียงที่รั่วจากหูฟังของคุณไปข้างนอก และการรั่วของเสียงจากภายนอกมาเข้าหูคุณ

ถ้าคุณเลือกหูฟังเพื่อการบันทึกเสียง เลือกหูฟังที่เสียงรั่วออกมาจากหูฟังน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการลองเปิดเสียงให้ดังมากๆ(โดยที่ไม่อันตรายต่อทั้งหูคุณและหูฟัง) แล้วฟังดูว่าเสียงจากหูฟังรั่วออกมาข้างนอกไหม ถ้าคุณนำไปใช้งานอัดเสียง เสียงจากหูฟังจะรั่วมาเข้าไมโครโฟนรึเปล่า  คิดเผื่อด้วยว่านักร้อง นักดนตรีที่มาอัดเสียงกับคุณแต่ละคนชอบฟังเสียงดังเบาไม่เท่ากัน ดังนั้นเปิดดังๆ เสียงจะรั่วหรือไม่ ตรงนี้ต้องลองให้ดีๆ
ถ้าคุณชอบฟังเพลงในที่สาธารณะ ก็ไม่ควรเลือกหูฟังที่เสียงรั่วจนไปรบกวนผู้อื่น


           ถ้าคุณเลือกหูฟังเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ในขณะเดินทาง ขณะอยู่บนรถไฟฟ้า ก็ควรเลือกหูฟังแบบที่ไม่ปิดหูคุณจนสนิท ไม่ปิดกั้นคุณจากเสียงภายนอกแบบตัดขาดจากโลก  เรื่องนี้เกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิต ถ้าคุณอยู่ในโลกภายนอก แม้ขณะฟังเพลง ก็ควรได้ยินเสียงแวดล้อมด้วย เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน เรื่องเฉพาะหน้า รถพุ่งใส่ ไฟไหม้ จะได้รู้ตัว จะได้หลบทัน ...




         วิธีการทั้ง 5 น่าจะทำให้คุณเลือกหูฟังได้ตรงกับตัวเองมากขึ้น เมื่อซื้อหูฟัง ไม่ต้องรีบ ตั้งใจลองซักพัก ให้มั่นใจว่าคุณมีความสุขกับสิ่งที่ได้ยิน และเมื่อได้หูฟังที่ถูกใจแล้วก็ระวังอย่าฟังเพลงด้วยหูฟังเสียงดังเกินไปหรือนานเกินไป ถนอมหูไว้ให้ฟังเพลงได้นานๆ ด้วยนะครับ

1 ความคิดเห็น: